วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติวัดพระธาตุลำปางหลวง


วัดพระธาตุลำปางหลวง



         วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์
          ประวัติพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น ท้าวมหายศจากนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้างวีรบุรุษของชาวลำปาง ได้ทำการต่อสู้โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน
           วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป

ที่มา  จาก http://www.ezytriip.com/

ประวัติวัดเสลารัตนปัพพตาราม หรือวัดไหล่หิน


 

วัดเสลารัตนปัพพตาราม หรือวัดไหล่หิน

                ตั้งอยู่ที่บ้านไหล่หิน ตามประวัติกล่าวว่า วัดไหล่หินสร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๒๖
วัด ไหล่หิน เป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างลำปาง มีกำแพงล้อมเขตพุทธาวาส แต่ไม่มีบันไดขึ้นวัดเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง มีศิลปะที่สำคัญของวัด คือ

ซุ้มประตูโขง เป็นงานช่างพื้นบ้าน ตัวซุ้มประกอบด้วยตุ๊กตาดินเผาเคลือบขนาดเล็กกว่าของวัดพระธาตุลำปางหลวง
วิหาร เป็น วิหารโล่ง ฐานเตี้ย ด้านหน้าจั่วประดับลวดลายปูนปั้น ประดับกระจก ฝีมือประณีต มีการประดับตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ลิง นก อยู่ตามหลังคาวิหาร
กุฏิโบราณ เป็น กุฏิเครื่องไม้แบบชั้นเดียว หลังคา หน้าบัน มีการประดับลวดลายแกะสลักที่เก่าแก่มาก สันนิษฐานว่า รื้อจากวิหารหลังเก่ามาติดไว้ ปัจจุบันเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณ เครื่องปั้นดินเผาอาวุธโบราณ ของใช้เจ้านายสมัยก่อน นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บหีบพระธรรมบรรจุใบลานเก่าแก่อีกเป็นจำนวน
วัดไหล่หิน เป็นวัดที่มีภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง นำมาเป็นหนึ่งในฉากถ่ายทำ โดยเฉพาะภาพยนตร์แห่งสยามประเทศของท่านมุ้ย "สมเด็จพระสุริโยทัย" ก็มาถ่ายทำที่นี่เช่นกัน

การเดินทาง

                จากที่ว่าการอำเภอเกาะคาเข้าทางเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง 1 กิโลเมตร และแยกซ้ายอีก 6 กิโลเมตร (จะมีป้ายบอกทางตลอดการเดินทาง)
ที่มา จาก http://www.thaiall.com/

ประวัติวัดสันตินิคม หรือวัดสันป่าสัก


 

วัดสันตินิคม หรือวัดสันป่าสัก

                วัดสันตินิคมตั้งอยู่ ณ เลขที่ 142 หมู่ที่ 2 บ้านสันป่าสัก ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอ
เกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นสถานที่ในการเผยแพร่และอบรมคุณธรรม และจริยธรรม มีการอบรมและ
ปฏิบัติธรรมทั้งอุบาสกและอุบาสิกา เป็นสถานที่ในการอบรมและบรรยายของหน่วยงาน คณะครู
อาจารย์และนักเรียนนักศึกษา รวมถึงการมาเข้าค่ายอบรมธรรมของหน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ เป็น
สำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่หนึ่งของจังหวัดลำปาง (ในทั้งหมด 4 แห่ง ) เป็นอุทยานการศึกษาทั้งทางโลก
และทางธรรม มีแหล่งเรียนรู้พุทธประวัติ สวนสมุนไพร รวมถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และห้องสมุดให้
ทำการศึกษาค้นคว้าและอบรมหลักสูตระยะสั้นการอบรมคอมพิวเตอร์ และบริเวณด้านบนของ
ห้องสมุดในอนาคต ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างวิหารบูรพณาจารย์ เป็นแหล่งรวบรวมรูปเหมือน
ของ บูรพณาจารย์ ที่ทุกคนเลื่อมใสศรัทธา และยังเป็นศูนย์ประสานงานสภาเด็กและเยาวชนของ
หมู่บ้านสันป่าสัก และจะพัฒนาเป็นเป็นศูนย์ประสานงานสภาเด็กและเยาวชนของตำบลใหม่พัฒนา

 

การเดินทาง

                จากที่ว่าการอำเภอเกาะคาเข้าทางเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง 1 กิโลเมตร และแยกซ้ายอีกประมาณ 10 กิโลเมตร เดินทางมาทางเดียวกับวัดไหล่หินหลวง (จะมีป้ายบอกทางตลอดการเดินทาง)
                สำนัก ปฏิบัติธรรมวัดสันตินิคม  เลขที่ 142 หมู่ 2 บ้านสันป่าสัก  ตำบลใหม่พัฒนา  อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130  โทร.054- 274512-13  หรือจะติดต่อกับหลวงปู่สะอาดโดยตรงที่ 081-9522857

ประวัติวัดพระเจดีย์ซาวหลัง


 

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง



                วัดเจดีย์ซาว ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 1.5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม คำว่า ซาว แปลว่า ยี่สิบ คำว่า หลัง แปลว่า องค์ ฉะนั้น วัดเจดีย์ซาวหลัง จึงแปลได้ว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัย หริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี
                จุดเด่นของวัดคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปทันใจ พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มี พุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่ และที่ศาลาการเปรียญเรือนไม้ชั้นเดียว ด้านหลังพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑสถานเขลางค์นครแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมา ถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า พระแสนแซ่ทองคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ

การเดินทาง

                จากตัวเมืองลำปางข้ามสะพานรัษฎาภิเศก ตรงไปถึงสี่แยกโรงฆ่าสัตว์ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1035 ผ่านสุสานไตรลักษณ์ไปราว 1.5 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 1 กม. วัดเจดีย์ซาวหลังอยู่ทางซ้ายมือ

ประวัติวัดพระธาตุจอมปิง

 

วัดพระธาตุจอมปิง

            วัดพระธาตุจอมปิง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 บ้านจอมปิง ตำบลนาแก้ว อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง จากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ระยะทาง 26 กิโลเมตร
            พระนางจามเทวี ขณะมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงเสร็จแล้วก็ได้มาสร้างวัดพระธาตุจอมปิงอีก จากนั้นวัดก็ร้างไป ต่อมาท่านนันทปัญญาพี่เลี้ยงของพระเจ้าลกคำ(เจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่) ได้มาทำการบูรณะ ซึ่งเมืองนี้มีชื่อว่า จุมภิตาราม ท่านนันทปัญญามีเพื่อนชื่ออ้ายจอมแพร่ ทั้งสองได้สร้างวัดคนละวัด วัดที่อ้ายจอมแพร่สร้าง คือวัดจอมปิงลุ่มปัจจุบันนี้ วัดที่ท่านนันทปัญญาสร้างชื่อวัดจอมพี่เลี้ยง(วัดพระธาตุจอมปิง)
             ถึงพุทธศักราช 2000 ได้เกิดศึกพระยาใต้(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา)ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง เจ้าหมื่นด้งนครไม่อยู่ไปราชการที่เชียงใหม่ เหลือแต่พระนางจามเทวีกำลังตั้งครรภ์เจ้าหาญแต่ท้องได้แต่งกายเป็นชายออก ไปสู้รบจนกองทัพพระยาใต้พ่ายไป เมื่อเจ้าหมื่นด้งนครและเจ้าติโลกราชทราบ ก็ยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่มาช่วยสถานที่รบเรียกว่า "มหาสนุก" และได้ฉลองชัยชนะที่วัดนี้ พระนางได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ส่วนสัณฐานดังกองข้าวเปลือก ได้ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า "วัดจอมพิงค์ชัยมงคล" จนเพี้ยนมาเป็น จอมปิงในปัจจุบัน

การเดินทาง

              อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุลำปางหลวง  หากตั้งหลักเดินทางจากตัวเมืองลำปาง ก็จะใช้ระยะทางประมาณ 18 กม. ถึงหน้าตลาดอำเภอ เกาะคา เลยมาอีกนิดก็ข้ามสะพานแม่น้ำวัง จากนั้นมาอีกประมาณ 300 เมตรก็จะถึงสามแยกตรงที่ว่าการอำเภอเกาะคา(หลังเก่า) เลี้ยวซ้ายก็จะไปวัดพระธาตุจอมปิง ใช้ระยะทางประมาณ 14 กม. ไป ตามถนนสายเล็กๆเลียบแม่น้ำวัง  ก่อนถึงวัดพระธาตุจอมปิงสามารถสังเกตเห็นยอดพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินมีแม่น้ำวังอยู่บริเวณ หน้าวัด